วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2556


                                       ทิศ 6

                                   



 ทิศ 6 หมายถึง บุคคลประเภทต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทางสังคม มีหน้าที่และความรับผิดชอบที่พึงปฏิบัติต่อกันดุจทิศที่อยู่รอบตัว ประกอบด้วย
1. ทิศเบื้องหน้า (ปุรัตถิมทิศ) ได้แก่ บิดา มารดา
2. ทิศเบื้องขวา (ทักษิณทิศ) ได้แก่ ครูอาจารย์
3. ทิศเบื้องหลัง (ปัจฉิมทิศ) ได้แก่ บุตร ภรรยา
4. ทิศเบื้องซ้าย (อุตตรทิศ) ได้แก่ มิตรสหาย
5. ทิศเบื้องล่าง (เหฏฉิมทิศ) ได้แก่ ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาและลูกจ้าง
6. ทิศเบื้องบน (อุปริมทิศ) ได้แก่ พระภิกษุ
การปฏิบัติตนเป็นลูกที่ดีตามตามหลักทิศเบื้องต้นในทิศ 6
 การปฏิบัติตนเป็นลูกที่ดี หมายถึง การปฏิบัติหน้าที่ของบุตรต่อบิดามารดา เนื่องจากบิดามารดานั้นเปรียบเสมือนเป็นทิศเบื้องหน้า ตามหลักแห่งทิศ 6 บิดามารดาเป็นผู้มีพระคุณต่อบุตร เพราะบิดามารดาที่ดีจะมีหน้าที่ในการอนุเคราะห์บุตรธิดา ดังนี้
1. ห้ามปรามจากความชั่ว
2. ให้ตั้งอยู่ในความดี
3. ให้ศึกษาศิลปวิทยา
4. หาคู่ครองที่เหมาะสมให้
ดังนั้น พ่อแม่จึงมีบทบาทสำคัญ มีหน้าที่ ความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ในการอนุเคราะห์บุตรเพื่อให้เติบโตและเป็นคนดีของสังคม และลูกที่ดี เอได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่แล้ว พึงปฏิบัติตนเป็นลูกที่ดีตามหลักทิศเบื้องต้นในทิศ 6 ดังนี้
1. ท่านเลี้ยงเรามาแล้วเลี้ยงท่านตอบ
2. ช่วยทำกิจการของท่าน
3. ดำรงวงศ์สกุล
4. ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท
5. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วทำบุญอุทิศให้ท่าน
 การตระหนักถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของบิดามารดา หลีกเลี่ยงการประพฤติตนที่ไม่เหมาะสม แล้วหันมาให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตนเป็นลูกที่ดีตามหลักทิศเบื้องต้นในทิศ 6 นั้น นอกจากจะก่อให้เกิดผลดีต่อลูกที่ปฏิบัติแล้ว ยังก่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่นและมีความสุขในครอบครัว เมื่อครอบครัวซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของสังคมที่มีความเข้มแข็ง ก็จะก่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข
                                                   
อริยสัจ 4
                                                                 
     อริยสัจ แปลความหมายว่า ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยะ ความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ ประกอบด้วยองค์ธรรม 4 ประการ ซึ่งเรียกกันสั้นๆ ว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แต่ละประการมีความหมายที่ควรทราบ ดังนี้
1.ทุกข์ ความทุกข์ ความที่กายและใจทนสภาพบีบคั้นได้ยาก เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ เป็นผลที่เนื่องมาจากเหตุ
ปัญหาของชีวิต พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่ามนุษย์ทุกคนมีทุกข์เหมือนกัน ทั้งทุกข์ขั้นพื้นฐานและทุกข์เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน
ทุกข์ขั้นพื้นฐาน คือ ทุกข์ที่เกิดจากการเกิด การแก่ และการตาย ส่วนทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน คือ ทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากการประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากไม่ได้ดังใจปรารถนา รวมทั้งทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ อาทิ ความยากจน
2.สมุทัย เหตุที่เกิดทุกข์ คือ กิเลสตัณหาที่กระตุ้นจิตใจให้ส่ายแส่หาอารมณ์ที่ปรารถนา อยากได้ อยากมี อยากเป็น และอยากพ้นไปจากภาวะไม่ปรารถนา เป็นเหตุแห่งทุกข์ที่ต้องละ
พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ทั้งหมดซึ่งเป็นปัญหาของชีวิต ล้วนมีเหตุให้เกิดเหตุนั้น คือ ตัณหา อันได้แก่ความอยากได้ต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วยความยึดมั่น
3.นิโรธ ความดับทุกข์ คือ ภาวะที่เป็นผลจากการดับตัณหาและสามารถพ้นจากทุกข์ได้เด็ดขาด เป็นภาวะที่ต้องทำให้ประจักษ์แจ้ง
พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์คือปัญหาของชีวิตทั้งหมดที่สามารถแก้ไขได้นั้น ต้องแก้ไขตามทางหรือวิธีแก้
4.มรรค ข้อปฏิบัติให้ลุถึงความดับทุกข์ ซึ่งมีองค์ประกอบ 8 ประการ อันเป็นข้อปฏิบัติที่เป็นแบบอย่างหรือทางดำเนินชีวิตที่ดีเลิศ จัดเป็นเหตุที่ควรเจริญ คือ ลงมือปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงนิโรธ โดยสรุปเป็นหลักแห่งการศึกษาปฏิบัติสำคัญได้ 3 ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
             
ไตรสิกขา
          ไตรสิกขา คือ หลักการพัฒนาชีวิตเพื่อให้ประสบความสำเร็จเป็นคนสมบูรณ์แบบตามแนวพุทธ ไตรสิกขา จึงจัดอยู่ใน มรรค (ธรรมที่ควรเจริญ) คือ ควรทำให้เกิดมีขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาชีวิต
          ไตรสิกขา แปลว่า สิกขา ๓ หมายถึง ข้อปฏิบัติที่ต้องศึกษา ๓ อย่าง คือ
          ๑. อธิสีลสิกขา สิกขา คือ ศีลอันยิ่ง
          ๒. อธิจิตตสิกขา สิกขา คือจิตอันยิ่ง หมายถึง สมาธิ
          ๓. อธิปัญญาสิกขา สิกขา คือ ปัญญาอันยิ่ง
          ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็น กระบวนการปฏิบัติ หรือ กระบวนการพัฒนา ๓ ด้าน คือ ศีล เป็นหลักการพัฒนาระดับความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม สมาธิ เป็นหลักการพัฒนาจิตใจให้มีสมรรถภาพและประสิทธิภาพในการคิดพิจารณาตัดสินใจ กระทำหรือไม่กระทำการใด ๆ ปัญญา เป็นหลักการพัฒนาความรู้ความเข้าใจ รู้จักสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น และสามารถแยกแยะวิเคราะห์สืบหาสาเหตุของสิ่งทั้งหลายได้ชัดแจ้ง ไตรสิกขาจึงเป็นกระบวนการพัฒนาแบบบูรณาการ